ประวัติลังกาสุกะ

ชื่อกันว่าบริเวณเมืองปัตตานี เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักร “ลังกาสุกะ” ในภาษาอาหรับ หรือ “ลังยาชือเกีย”  ในภาษาจีน ซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗ จากการรับถ่ายทอดเอาอารยธรรมอินเดีย เข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิม เมืองหลวงของลังกาสุกะคือ ปัตตานี มีชื่อเสียงในฐานะท่าเรือจำหน่ายสินค้า จำพวกเงินและทองคำในยุคแรกๆ มีการนำทองคำจากปัตตานีไปขายถึงอินเดีย และบางครั้งไปไกลถึงกรีต(น่าจะเป็นกรีก ผู้เขียน) และโรมัน  ลังกาสุกะยังเป็นเมืองท่าแห่งแรกที่ได้ทำการค้าตามระบบบรรณาการกับจีน

                ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓  ลังกาสุกะเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีการติดต่อสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเกาะชวา เนื่องจากนับถือพุทธศาสนามหายานเหมือนกัน พุทธศาสนามหายานได้แพร่เข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวพื้นเมือง ในคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ทำให้เกิดการสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา คือ อารยธรรมศรีวิชัย ซึ่งนับได้ว่าเป็นวัฒนธรรมศักดินารุ่นแรกๆ ที่เกิดขึ้นทางปลายแหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย

                ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘  ศรีวิชัยสูญสิ้นอำนาจไปพร้อมๆ กับพุทธศาสนามหายาน ลังกาสุกะก็เสื่อมตามไปด้วย เนื่องจากการโจมตีของโจรสลัด ความเสื่อมของชุมชน ที่รับเอาอารยธรรมอินเดียรอบ ๆ อ่าวไทยและหมู่เกาะ เปิดโอกาสให้พุทธศาสนานิกายเถรวาท จากศรีลังกาสามารถเข้ามาแพร่ ขยายอิทธิพลได้เต็มที่ ทำให้เกิดขบวนการสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ แบบศักดินา ในขณะเดียวกันปัตตานี ซึ่งได้รับอิทธิพลดังกล่าวฟื้นฟูอำนาจขึ้นมาใหม่มีบทบาทสำคัญในฐานะรัฐอิสระ ไม่ขึ้นกับเมืองใด และรุ่งเรืองขึ้นอย่างมาก ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อการค้าระหว่างปัตตานีกับจีนข่ยายตัวมากขึ้น มีการส่งสินค้านานานชนิด ไปขายยังจีน และสินค้าเข้าจากจีน ได้แก่ ผ้าแพรพรรณ และเครื่องเคลือบดินเผา ในขณะเดียวกัน ปัตตานี ก็มีความสัมพันธ์กับนครศรีธรรมราชมากขึ้นในฐานะอาณาจักรชาวพุทธ ที่มีวัฒนธรรมเหมือนกัน

                ตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ศาสนาอิสลามซึ่งนำเข้ามาโดยพ่อค้าอินเดียว และอาหรับ แพร่เข้าสู่ปลายคาบสมุทร แต่เดิมเชื่อว่าเจริญ ที่มะละกาเป็นแห่งแรก แต่ภายหลังมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ปัตตานีเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามแห่งแรก บริเวณคาบสมุทรมลายู ชื่อของเมืองนี้ จึงปรากฎอยู่ในบันทึกของอาหรับว่า “ลังกาสุกะ” แต่ครั้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ชื่อลังกาสุกะก็หายไป กลายเป็นสำนึก แห่งประวัติศาสตร์ และตำนานเท่านั้น ชาวมลายูตอนเหนือของมลายาและปัตตานีเชื่อว่า “ลังกาสุกะ” เป็น “อาณาจักรแห่งสวรรค์ นครแห่งความผาสุก” ปกครองโดยเจ้าหญิง ซึ่งประทับเป็นโสดอยู่บนเนินเขา และเนินเขานั้นคงหมายถึง “ปัตตานี”

                จากการสำรวจทางโบราณคดีชั้นต้น พบว่าบริเวณลุ่มน้ำปัตตานี มีชุมชนโบราณ ๒ แห่ง คือ ที่เมืองประแว อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และบริเวณวัดถ้ำคูหาภิมุข อำเภอเมือง จังหวัดยะละ เมืองปัตตานีโบราณคงตั้งอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดใน ๒ แห่งนี้ บริเวณเมืองประแว อยู่ใกล้กับปากน้ำปัตตานี จึงน่าจะเป็นที่ตั้งเมืองปัตตานีมากกว่า เพราะหลักฐานระบุว่า คือ ท่าเรือ

--------------------------------------------------------------------

ประวัติความเป็นมาของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

       ดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย  ราว 700 ปีมาแล้ว ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1737 ได้เรียกชื่อหัวเมืองชายแดนภาคใต้ว่า “ หัวเมืองมลายู”  ประกอบด้วยเมืองไทรบุรี  กลันตัน ตรังกานู ปัตตานี  รวมถึงยะลาและนราธิวาส ตามหลักฐานที่ปรากฎในหลักศิลาจารึกกล่าวไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหง แผ่ขยายอิทธิพลไปจนถึงดินแดนแหลมมลายูตั้งแต่เมืองไชยาไปจนถึงสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ.1820 แต่ความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะที่ปัตตานี (หัวเมืองมลายู) มีฐานะเป็นประเทศราช จนถึง พ.ศ.2310 สมัยกรุงศรีอยุธยา ไทยได้เสียกรุงให้แก่พม่า หัวเมืองมลายู จึงถือโอกาสตั้งตนเป็นเอกราชจนถึงพ.ศ.2328ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1  ได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ยกทัพไปตีเมืองปัตตานีและรวบรวมหัวเมืองทางใต้ ทั้ง ๔  มาอยู่ในความปกครองอีกครั้งได้กวาดต้อนครอบครัวและเครื่องศาสตราวุธรวมทั้งปืนใหญ่ที่เรียกว่า “ นางพระยาตานี ” มาไว้ที่กรุงเทพฯ  และได้ตั้งตวนกู  รามิดิน  เชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นเป็นรายาปัตตานี  โดยให้ปกครองแบบอิสระ  เพียงแต่ส่งเครื่องราชบรรณาการให้ 3 ปีต่อครั้ง  หากไม่ส่งถือว่าเป็น “ กบฎ” จัดความรับผิดชอบเป็นขั้นตอน  โดยให้เมืองนครศรีธรรมราชควบคุมดูแลไทรบุรี, กลันตัน และเมืองสงขลาควบคุมดูแล  ปัตตานี , ตรังกานู  ต่อมาตวนกู รามิดิน (เชื้อสายสุลต่านเมืองปัตตานี)  ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ขณะนั้นเกิดความไม่พอใจที่ต้องขึ้นต่อเมืองสงขลา  จึงแข็งข้อได้ชักชวนองค์เชียงสือ กษัตริย์ญวนให้ยกทัพมาตีไทยแต่ถูกปฏิเสธจึงหันไปคบกับโต๊ะสาเหยด(มาจากอินเดีย)ก่อการกบฎยกทัพปัตตานีไปตีเมืองสงขลาแตก

          ปี พ.ศ.2334  ทัพหลวงจากกรุงเทพฯ  ร่วมกับกองทัพนครศรีธรรมราช เข้าทำการปราบปรามยึดคืนมาได้  พระยาเมืองสงขลาจึงยกทัพไปตีเมืองปัตตานีได้ดังเดิม  หลักจากนั้นรัชกาลที่ 1 จึงแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง เพื่อริดรอนกำลังไม่ให้เกิดการแข็งข้อขึ้นอีก โดยแบ่งออกเป็น เมืองปัตตานี, หนองจิก, ยะหริ่ง, สายบุรี (รวมบางนราด้วย) , ยะลา ,รามัน และระแงะ  โดยให้ข้าราชการไทยกับชาวมลายู ที่มีความจงรักภักดีเป็นเจ้าเมืองทั้ง 7  มีอิสระขึ้นตรงต่อเมืองสงขลา ส่วนเมืองปัตตานีซึ่งเป็นหัวเมืองเก่าศูนย์กลางของเมืองทั้ง 7 และได้ก่อความยุ่งยากมาตลอด  จึงเปลี่ยนผู้ปกครองใหม่เป็นคนไทย  โดยแต่งตั้งให้ปลัดเมืองจะนะเป็นผู้ปกครอง  สำหรับเมืองสงขลาได้รับการเลื่อนฐานะเป็นหัวเมืองเอก ขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยตรง มีอำนาจควบคุมหัวเมืองทั้ง 7 รวมทั้งกลันตันและตรังกานูด้วย  ส่วนเมืองนครศรีธรรมราช ให้ควบคุมเฉพาะเมืองไทรบุรี  ซึ่งอยู่ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย  มีพื้นที่กว้างขวางอยู่แล้ว เหตุการณ์จึงสงบมาโดยตลอดจนถึงเมื่อ พ.ศ.2374 สมัยรัชกาลที่ ๓ เมืองไทรบุรีทำการกบฎ 2 ครั้งแต่ปราบง่ายไม่รุนแรง  จึงมีความสงบเรียบร้อยมาจนตลอดรัชกาลที่ 4

          ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2440) ได้ทรงปรับปรุงระบบการปกครองใหม่โดยเปลี่ยนฐานะจากประเทศราชมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยในรูปมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งเรียกว่า “พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องถิ่น ร.ศ.116” ได้ทดลองใช้มาจนถึง 10 ธ.ค.2444 จึงประกาศใช้กับ 7 หัวเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกว่า “ ข้อบังคับสำหรับ 7 หัวเมือง ร.ศ.120” โดยรวมเป็นบริเวณเรียกว่า “บริเวณ 7 หัวเมืองอิสลามปักษ์ใต้”  ลักษณะการปกครองแบบเป็นมณฑลเทศาภิบาล มีพระยาเมือง ปลัดเมือง และยกกระบัตรเมือง ขึ้นกับข้าหลวง การเก็บภาษีส่งพนักงานสรรพากรไปเก็บ แบ่งรายได้ให้เป็นเงินเดือนกับพระยาเมือง การตัดสินคดีความ ส่งผู้พิพากษาไปตัดสิน

          ระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนี้ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นแก่ผู้ปกครองเดิมของทั้ง 7 หัวเมือง  เพราะอำนาจการปกครองถูกโอนให้ไปขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยตรง ทำให้พระยาเมืองเชื้อสายมลายูเกิดความไม่พอใจ  โดยเฉพาะตวนกูอับดุลกาเดร์ บิน ตวนกู กอมารุดดิน (พระยาวิชิตภักดี)  พระยาเมืองปัตตานี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อ พ.ศ.2442 และมีความคิดอยากจะเป็นใหญ่อยู่แล้ว ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าถูกริดรอนอำนาจและอิทธิพลลงไป

          ในปี พ.ศ.2444 ตวนกูอับดุลกาเดร์  (พระยาวิชิตภักดี) เริ่มก่อความกระด้างกระเดื่อง โดยขอความร่วมมือพระยาเมืองระแงะ, สายบุรี และรามัน ที่มีเชื้อสายเป็นชาวมลายู พร้อมกับทำหนังสือร้องเรียนไปยัง ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสหพันธ์รัฐมลายู ในสิงคโปร์ ว่าไทยรังแกประชาชนปัตตานี รัชกาลที่  5 จึงให้จับกุมตัวฐานกบฎถอดยศส่งไปจองจำที่จังหวัดพิษณุโลก มีกำหนด 10 ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2448 ตวนกูอับดุลกาเดร์ ขอถวายฎีการับผิดและสัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองอีก  จึงได้รับอภัยโทษแล้วเดินทางกลับปัตตานี ชาวไทยมุสลิม ระดับหะยี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ประมาณ 500 คน ได้นั่งเรือ 80 ลำ ไปรับที่ปากน้ำปัตตานี

          สมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2449 ได้ทรงยุบเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองทั้ง 7 เหลือไว้ 4 หัวเมือง คือปัตตานี , ยะลา, สายบุรี และนราธิวาส สำหรับตวนกูอับดุลกาเดร์ พ.ศ.2455 ได้ยื่นเรื่องขอรับเบี้ยหวัดย้อนหลังแต่ไม่ได้รับการพิจารณาเพราะถือว่าเป็นกบฎ  ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2460  ได้ยื่นเรื่องขอครอบครองที่ดิน จำนวน 600 แปลงอีก  โดยอ้างว่าเป็นมรดก  ศาลตัดสินว่าเป็นทรัพย์สินแผ่นดิน   สร้างความโกรธแค้นให้กับตวนกูอับดุลกาเดร์เป็นอย่างมาก   จึงได้วางแผนร่วมกับพรรคพวกล่อลวงข้าราชการไทย ไปสังหารหมู่ที่บ้านพักเพื่อปิดสถานที่ราชการแต่ความแตกเสียก่อน  รัชกาลที่ 6 ทรงทราบเรื่อง จึงให้ทหารจากนครศรีธรรมราช ไปจับกุมตัว ตวนกูอับดุลกาเดร์ไหวตัวทัน จึงอพยพครอบครัวหนีไปอยู่ที่รัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย  ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของอังกฤษแล้ว  และอาศัยอยู่จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2476 อย่างไรก็ดี แนวความคิดในการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนหรือเพื่อความเป็นตัวของตัวเอง ยังมีผู้รับสืบทอดต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน และ ขจก.ได้ยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนให้ชาวไทยมุสลิม

          การปฏิรูปและขยายอำนาจการปกครองของไทยไปทางตอนเหนือของแหลมมลายู ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับอังกฤษซึ่งแผ่อิทธิพลมาจากทางต้อนใต้ของแหลมมลายู เช่นเดียวกัน ในที่สุดได้มีการทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2452 โดยไทยยอมโอนอำนาจอธิปไตยเหนือรัฐไทรบุรี  กลันตัน ตรังกานู และปะลิศ รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของอังกฤษขณะเดียวกันอังกฤษก็ยอมรับอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือดินแดนบริเวณพรมแดนไทย–มาเลเซีย ในปัจจุบัน

          โดยสรุปจะเห็นได้ว่า นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ก็คือ การพยายามควบคุมไม่ให้ดินแดนในบริเวณนี้มีอำนาจกล้าแข็งจนกระทั่งสามารถดำเนินการแบ่งแยกตัวเองให้เป็นอิสระต่อการปกครองของไทย  ซึ่งในระยะหลังก็ได้ใช้วิธีการแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and Rule)  อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่แน่ชัดเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายมลายูที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ในฐานะชนกลุ่มน้อยในสังคมไทยโดยเฉพาะการเข้าไปเกี่ยวข้องในแง่วัฒนธรรม แม้ว่านโยบายการสร้างชาติ (nation building) จะได้เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้วก็ตาม

          ในรัชกาสที่ 6  นโยบายที่พอมีอยู่ก็เป็นไปในลักษณะผสมผสาน (Integration) โดยทรงวางหลักรัฐประศาสโนบายซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ วางไว้สำหรับปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี  ซึ่งเป็นเพียงแนวปฏิบัติตนของข้าราชการในการปกครองเท่านั้น สำหรับการศึกษาภาคบังคับที่ทรงกำหนดขึ้น มัสยิดบางแห่งในมณฑลปัตตานีก็ได้รับการขอร้องให้สอนหลักสูตรภาษาไทย พร้อมกับหลักสูตรศาสนาแต่ก็ไม่เป็นการปฏิบัติที่กว้างและได้ผลเท่าใดนัก

          พ.ศ.2474 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ยกเลิกมณฑลปัตตานี และให้โอนการปกครองไปรวมกับมณฑลนครศรีธรรมราชตามเดิมและยุบเมืองสายบุรีลงเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานี  และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2475 ได้มีการยกเลิกระเบียบการปกครองแบบมณฑลมาใช้พระราชบัญญัติว่าด้วย ระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2476 ซึ่งจัดระเบียบราชการบริหารส่วนกลางเป็นกระทรวงหรือทบวงการเมือง  ราชการบริหารส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ   และราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเทศบาลและสุขาภิบาล

          ด้วยสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ พ.ศ.2452 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2476 ทำให้การปกครองพื้นที่บริเวณนี้ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และรวมถึง สตูล ได้กลายมาเป็นหน่วยการปกครองที่มีฐานะเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งมักเรียกกันว่า “ สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้” จนกระทั่งปี พ.ศ.2506 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เรียกชื่อใหม่ว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” เพราะพิจารณาเห็นว่า คำเรียกเดิมก่อให้เกิดการแตกแยก และให้รวมจังหวัดสงขลา เข้าไปด้วย

          ในช่วงหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร์ทำให้ผู้นำชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนเริ่มมีความหวังว่า ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  พวกเขาจะสามารถรักษาและประคับประคองไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของสังคมตนดังจะเห็นได้ว่าภายหลังการปฏิวัติผู้นำในการแบ่งแยกดินแดนคนหนึ่ง คือ ตวนกูมะ ไฮยิดดิน  ได้เดินทางกลับจากการลี้ภัยทางการเมืองโดยใช้เหตุผลว่า เพราะว่า “มีรัฐธรรมนูญแล้ว”  ส่วนผู้นำคนอื่น ๆ ก็มีความหวังว่า อำนาจที่พวกตนเคยเสียไปเมื่อคราวปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 อาจจะได้คืนมาใหม่โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้จากการเข้าต่อสู้ทางการเมืองในการเลือกตั้ง เมื่อปี พ.ศ.2476 และ 2480 อย่างไรก็ตาม ชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมโดยทั่วไปยังไม่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองเท่าใดนัก

          หลังจากตวนกูอับดุลกาเดร์ถึงแก่กรรมแล้ว ตวนกูมะ ไฮยิดดิน บุตรชายคนที่ 7 ก็เข้ารับแผนงานต่อจากบิดา โดยไปเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่กรุงเทพฯ ถูกเพื่อนล้อเลียนว่าเป็นลูกกบฎ  จึงไปเรียนต่อที่เกาะปีนัง และออกรับราชการแผนกการศึกษารัฐกลันตัน ปี พ.ศ.2484 – 2488 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ได้หลบหนีไปอยู่อินเดียและสมัครเป็นทหารอังกฤษได้ยศพันโท เป็นผู้รวบรวมสมาชิกตั้งขบวนการขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองมลายา ชื่อว่า “ ขบวนการมุสลิมหนุ่มแห่งกลันตัน” ได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษ และได้ส่งเงินไปช่วยเหลือชาวไทยมุสลิม 3,000 คน ที่ตกค้างอยู่ในเมกกะ เพราะสงคราม เมื่อสงครามสงบบุคคลเหล่านี้กลับมาแล้ว  จึงได้ยกย่องนับถือตวนกูมะ ไฮยิดดิน เป็นมันสมองทำให้ ขจก.เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัดที่มีชาวมาลายูมุสลิมมากพอสมควร ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 26 จังหวัด

          อย่างไรก็ตาม ในสายตาของชาวมาลายูมุสลิมมองว่า ความเป็นอิสระของผู้นำทางศาสนาเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์และสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง  ดังนั้นได้มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า สถาบันที่จัดตั้งขึ้นดูเหมือนไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการบริหารและประสานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนชาวมาลายูมุสลิม แต่ได้กลับกลายเป็นตัวแทนของรัฐบาลไปในสายตามของชาวมาลายูมุสลิม

          นอกจากนี้ พระราชกำหนด พ.ศ.2488 ยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาของชาวมุสลิม และสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันนี้จะได้รับพระราชทานทุนการศึกษาไปประกอบพิธีฮัจย์และศึกษาเพิ่มเติม เมืองเมกกะอย่างไรก็ดีในภายหลังกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้เป็นโรงเรียนในอาณัติของกรมสามัญศึกษา แม้มีวิชาเลือกภาษาอาหรับเหลืออยู่ แต่ก็เปิดรับนักเรียนทั่วไป สำหรับทุนเล่าเรียนหลวงก็ไม่เคยมีการตั้งงบประมาณไว้เลย ทำให้อิสลามไม่สามารถทำหน้าที่ที่คาดหวังไว้  ดังที่ระบุไว้ในกฎหมาย

          ต่อมาได้มีการออกกฎหมายพิเศษสำหรับชาวมลายูมุสลิมอีก กล่าวได้ว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่แสดงออกมาในรูป “อุปถัมภ์” สำหรับชาวมลายูมุสลิมเช่นกัน  ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล พ.ศ.2489 ซึ่งระบุให้สิทธิแก่ชาวไทยมุสลิมใน 4 จังหวัด  สามารถใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยมรดกและครอบครัวแทนบทมาตราที่เกี่ยวข้องในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (บรรพ 5 และ 6 ) โดยให้มีการแต่งตั้งดาโต๊ะยุติธรรม  ประจำศาลจังหวัดละ 2 คน แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ถูกร่างขึ้นมาโดยความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นส่วนใหญ่กฎหมายฉบับนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวมลายูมุสลิมเท่าที่ควร...

          ...สงครามโลกสงบลง (15 ส.ค.2488) ตวนกูมะ ไฮยิดดิน คาดหมายว่าไทยจะต้องแพ้สงคราม ตนจะเสนออังกฤษให้แยก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล) เข้าร่วมกับมลายูเป็นรัฐใหม่  ตนจะเป็นสุลต่านปกครอง  แต่รัฐบาลไทยในขณะนั้น โดยนายควง อภัยวงศ์  นายกรัฐมนตรี ได้แก้ไขสถานการณ์เอาไว้ได้ไม่ต้องแพ้สงคราม  ตวนกูมะ ไฮยิดดิน จึงต้องผิดหวัง  แต่ยังมีความคิดแบ่งแยกดินแดนให้ได้ โดยจัดตั้งขบวนการอย่างเปิดเผยในรูปของสมาคม เรียกว่า “ สมาคมเผ่ามลายูที่ยิ่งใหญ่”  (Kumpulan Malayu Patani Raya)เรียกสั้น ๆ ว่า  (KUMPAR) อยู่ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย  มีอิทธิพลด้านการทหารเหนือสุลต่านกลันตัน  ได้เคลื่อนไหวประสานกับทายาทเจ้าเมืองทั้ง 7 ที่เสียอำนาจร่วมกับไทยมุสลิมที่จบการศึกษาจากประเทศตะวันออกกลาง แข็งข้อต่อรัฐบาลไทย  โดยให้นายหะยีสุหลง โต๊ะมีนา  ดำเนินงานในประเทศ

          ต่อมาได้มีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 ซึ่งไม่สู้มีความสำคัญที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาคมมาเลย์มุสลิมมากนัก  เป็นการกำหนดสาระปลีกย่อยในการบริหารและจัดการเกี่ยวกับมัสยิดโดยส่วนใหญ่ โดยให้การรับรองฐานะของมัสยิดและฐานะของเจ้าหน้าที่มัสยิด เช่น อิหม่าม (ผู้นำในการประกอบพิธีทางศาสนาประจำมัสยิด)  คอตีบ (ผู้แสดงธรรมในการประกอบพิธีละหมาดวันศุกร์)  และบิหลั่น หรือมุอัซซิน (ผู้กล่าวประกาศการเข้าเวลา)  พร้อมทั้งยังระบุให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการมัสยิด แห่งละไม่น้อยกว่า 7 คน โดยมีอิหม่ามเป็นประธาน เพื่อเป็นคณะบริหารและจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของมัสยิด

          ความพยายามที่ดำเนินนโยบายประสมประสานของรัฐบาลนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ไม่ประสบความสำเร็จกลับทำให้ชาวมลายูมุสลิมรู้สึกแปลกแยกไปจากสังคมไทยมากขึ้น  แม้แต่การประกาศใช้กฎหมายเพื่อสนับสนุนตามนโยบาย “อุปถัมภ์”  กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลกำลังเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของประชาคมมุสลิมและเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงทางศาสนาอิสลาม ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลได้ถูกสะสมเรื่อยมา  จนปรากฎออกมาในรูปของขบวนการรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นตัวของตัวเองในทางวัฒนธรรม (Cultural autonomy)

หน้าหลัก